เผยเบื้องหลัง ยอดขาย 26 ล้าน ชาไทย KARUN ที่ใช้งบการตลาดแค่ 0.7% !! – รัส ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ
สวัสดีครับ พบกันอีกเช่นเคยสำหรับเนื้อหาดี ๆ ที่เรา THE INSIDER นำมาฝากทุก ๆ คน
โดยบทความนี้จะเป็นการนำแนวคิดดี ๆ ที่ได้รับจากคุณรัส ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ
เจ้าของแบรนด์ ชาไทย KARUN ผู้ที่สามารถทำยอดขายได้กว่า 20 ล้านบาท
โดยมีงบการตลาดไม่ถึง 1% เพียงเท่านั้น อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของ KARUN
และ คุณรัสมีแนวคิดอย่างไรในการทำแบรนดิ้ง ติดตามได้ในบทความนี้
KARUN แบรนด์ชาไทยจากสูตรของ “คุณแม่”
เริ่มต้นเราจะมาทำความรู้จักกับที่มาที่ไปของ แบรนด์ชาไทยที่กำลังขึ้นชื่ออย่าง KARUN กันเสียก่อน
โดยคุณรัส ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ เล่าว่า ที่มาของแบรนด์เกิดจากการที่ครอบครัวของคุณรัส
โดยเฉพาะคุณแม่ที่ชื่นชอบการดื่มชาไทยเป็นอย่างมาก จนถึงขนาดที่อยากมีชาไทยที่เป็นแบบฉบับของตนเอง
จนเกิดการลองผิดลองถูกมาเรื่อย ๆ จนได้กลายมาเป็นสูตรลับเฉพาะของคุณแม่
ซึ่งก็ได้รับการส่งต่อมาสู่คุณรัสจนกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ ชาไทย KARUN ที่เรารู้จักนั่นเอง
ชาไทย KARUN ใช้งบการตลาดน้อยกว่า 1% จากยอดขายในปี 2022
สิ่งที่น่าสนใจของแบรนด์ชาไทย KARUN ที่ทำให้ THE INSIDER เลือกที่จะมาสัมภาษณ์คุณรัสคือ
การที่ในปี 2022 ทางแบรนด์ได้ใช้งบการตลาดไปเพียงไม่ถึง 1% แต่สามารถสร้างยอดขายได้กว่า 20 ล้านบาท
ถือว่าน้อยมาก ๆ เมื่อดูจากองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างในสมัยนี้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำได้เป็นอย่างดีว่า
การที่คุณปั้นแบรนด์ด้วยการสร้าง Branding ที่ดี คุณไม่จำเป็นที่จะต้องใช้งบการตลาดเลย
“ถ้าคุณมีสมอง.. คุณก็ไม่ต้องใช้เงิน”
วินสตัน เชอร์ชิลล์
อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร
เส้นทางของความสำเร็จของ KARUN
จากความสำเร็จของการปั้นแบรนด์ของ KARUN ซึ่งในตอนนี้มีทั้งหมด 10 สาขาในประเทศ
และกำลังก้าวเข้าสู่สาขาที่ 11 อย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้
ทำให้หลาย ๆ คนอยากรู้ถึงเส้นทางการของความสำเร็จ
ในครั้งนี้ ซึ่ง คุณรัส ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ ก็ได้เล่าเปิดเผย
ถึงเทคนิคการสร้างแบรนด์ KARUN ดังนี้
- สูตรลับเฉพาะที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของแบรนด์ KARUN ต้องย้อนกลับไปที่ชาสูตรคุณแม่
ที่มีการเลือกใช้ใบชาถึง 3 ชนิดมาเป็นส่วนประกอบหลัก รวมไปถึงกรรมวิธีพิเศษที่เพิ่มเข้าไป
เพื่อให้ออกมาเป็นชาไทยที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง
- ทำให้แบรนด์เป็นที่ยอมรับในราคาที่แพงขึ้น
จากการที่คุณรัสมั่นใจในสูตรชาไทยจากคุณแม่ ที่มีความพิเศษเฉพาะตัว ดังนั้นเลยมีความรู้สึกว่า “ขายถูกไม่ได้”
ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาให้แบรนด์กลายเป็นที่ยอมรับจากผู้ซื้อ โดยต้องทำให้ผู้ซื้อรู้สึกถึงความคุ้มค่า
ของราคาที่จะต้องจ่ายจากชาไทย KARUN ซึ่งเป็นแนวคิดแบบ “Brand First”
ที่จะนำเอาแบรนด์มาเป็นอันดับแรกเสมอ
- ใช้การทำแบรนดิ้ง เพื่อสร้าง Emotional Connection
การทำ Branding ที่ดี จะช่วยให้ลูกค้าเกิด Emotional Connection กับสินค้า
เมื่อเกิดการเชื่อมต่อในจุดนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะทำให้ลูกค้าพร้อมที่จะจ่ายในราคาที่แพงมากยิ่งขึ้น
อย่างสมเหตุสมผล ในกรณีนี้สามารถเปรียบเทียบได้กับแบรนด์ระดับโลกหลาย ๆ แบรนด์
ที่สามารถเปลี่ยนสินค้าที่ดูเหมือนธรรมดา ให้กลายเป็นสินค้าที่มีราคาแพงเพียงแค่มีการติดชื่อแบรนด์
เอาไว้เพียงเท่านั้น
- สร้างแบรนด์คือการ “สร้างตัวตน”
การทำแบรนดิ้งนอกจากจะเป็นการสร้างตัวตนให้กับตัวเองแล้ว
ยังเป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างตัวตนให้กับผู้คนได้อีกด้วย ดังนั้นในการสร้างแบรนด์ขึ้นมา
ไม่ควรสร้างให้โดดเด่นเฉพาะตัว LOGO เพียงเท่านั้น
ต้องสร้างให้ผู้คนสามารถจดจำถึงภาพลักษณ์อันเด่นชัด
หากสามารถทำได้อย่างถูกวิธี จะทำให้ตัวตนของแบรนด์ชัดเจน
ยากที่จะถูกลอกเลียนแบบ และยังเป็นจุดเด่นที่ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันอีกด้วย
“เครื่องดื่มหนึ่งแก้วมันไม่ใช่กินแล้วทิ้งไป
แม้มันจะหมดไปแล้ว แต่รูปในช่องทางโซเชียลต่าง ๆ ยังคงอยู่”
รัส ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ
เจ้าของแบรนด์ชาไทย KARUN
อนาคตของ KARUN จะเป็นอย่างไร ?
ในส่วนของอนาคตของ KARUN ภายใต้การคุมบังเหียนของคุณรัส ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ
คือการตั้งตนเป็นโกลบอลแฟรนไชส์ เพื่อจะขยายตลาดออกไปทั่วโลก
เนื่องจากตอนนี้ชาไทยติดอันดับเครื่องดื่มที่อร่อยที่สุดในโลกอยู่ที่อันดับ 7 อันดับแรก
คือการที่ต้องสร้างตัวตนให้ชัดเจนให้แบรนด์มี Positioning ที่ดี
เพราะการทำเหมือนกับเจ้าอื่น ๆ อาจต้องแข่งขันกันใน Price Wall ซึ่งอาจไม่ยั่งยืน
ดังนั้นการสร้างตัวตนที่เด่นชัดจึงเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญ
ที่จะทำให้แบรนด์ KARUN พัฒนาก้าวต่อไปได้เรื่อย ๆ
คำแนะนำจากคุณรัส ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ สู่ผู้ที่กำลังสร้างแบรนด์ของตนเอง
สำหรับผู้ที่กำลังสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง คุณรัสอยากแนะนำจากประสบการณ์ตรงของการปั้นแบรนด์ด้วยตนเอง
ว่า การไม่แข่งขันกับผู้อื่น เลือกที่จะหาที่ยืนให้กับตัวเอง เชื่อมั่นในสินค้าของตัวเอง จากนั้นให้มองหาช่องทาง
ที่จะสามารถเอาชนะใจลูกค้าได้ และอย่าลืมที่จะเป็นตัวตนของตนเองให้ยาวนานมากที่สุด
จะดีมากกว่าการนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น แล้วก็ทำตามสิ่งที่กำลังเป็นกระแส
เพราะนั่นไม่ใช่แนวคิดที่ยั่งยืนต่อการทำธุรกิจ
บทส่งท้าย
เราหวังว่าบทสัมภาษณ์ของคุณรัส ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ จะช่วยสร้างแนวคิดใหม่ให้กับผู้ที่กำลังสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง แบรนด์ชาไทย KARUN เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของการทำแบรนดิ้ง เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าที่ดูเหมือนจะมีคู่แข่งทางการค้าหลาย ๆ เจ้า หากคุณอยากชมคลิปการสัมภาษณ์ของคุณรัสแบบเต็ม ๆ สามารถชมวิดีโอเต็มได้ที่ Youtube ช่อง NopPongsatorn และสามารถติดตามเนื้อหาดี ๆ เช่นนี้ จาก THE INSIDER ศูนย์รวมความรู้ด้านการดำเนินธุรกิจของคนรุ่นใหม่ แล้วพบกันใหม่ในเร็ว ๆ นี้ สวัสดีครับ