ฮิม วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีกุล แห่ง WARRIX
ฮิม วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีกุล ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร WARRIX เสื้อผ้ากีฬาลิขสิทธิ์ทีมชาติไทย
จุดเริ่มต้นของ “WARRIX” แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาสัญชาติไทย
10 ปี แห่งความสำเร็จ นักสู้ที่เริ่มต้นจาก 0 สู่เจ้าของลิขสิทธิ์ เสื้อทีมชาติไทย
วันนี้ทีมงาน THE INSIDER จะพาทุกท่าน
ร่วมเดินไปทำความรู้จักกับผู้ชายที่บอกได้เลยว่า
เป็นคนที่เกิดจาก Self-Made ที่แท้จริง
ทั้งยังประสบความสำเร็จและสามารถนำแบรนด์เสื้อผ้ากีฬา
ไปเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เสื้อผ้าทีมชาติไทยและดังไกลระดับโลก
THE INSIDER จะพาทุกท่านไปสำรวจมุมมองต่างๆ
ในการทำธุรกิจกว่าจะมาเป็น WARRIX เขาผ่านอะไรมาบ้าง
ธุรกิจในอดีตที่ผ่านมา เจอวิกฤต ถึงขั้น “ล้มละลาย” จริงไหม ?
เรามาหาคำตอบ ในบทความนี้กันครับ
CEO OF “WARRIX”
ของเดิมที่มี ดีอยู่ แล้วทำไมถึงเริ่มใหม่ ?
จริงๆ แล้วครอบครัวของพี่ฮิม มีธุรกิจอยู่แล้วสำหรับในตอนนั้น
พี่ฮิมในวัยเด็กเมื่อโตขึ้นก็สามารถสานต่อธุรกิจของครอบครัวได้เลย
แบบสบายๆ แทบไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ …
กลายเป็นว่ามันไม่เป็นแบบนั้นครับ
แล้วเพราะอะไรล่ะ ?
ทำไมพี่ฮิมถึงคิดอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ?
จากคำถามนี้พี่ฮิมได้ให้คำตอบเราครับ โดยเล่าถึงธุรกิจที่บ้านก่อนว่า …
” จริงๆ แล้วธุรกิจที่บ้านพี่เนี่ย คุณพ่อพี่ ค้าขายไม้ คือนำไม้ซุงมาเลื่อยเป็นไม้แปรรูป พี่ก็จะคุ้นเคยกับการเดินไปโรงไม้ โรงเลื่อย โกดังไม้ที่ชายแดน หรือ การตามพ่อเข้าป่าไปดูว่าไม้ซุงต้องตัดยังไง ผมเองก็คิดว่า ธุรกิจเหล่านั้นเนี่ยที่คุณพ่อเคยทำแล้วรุ่งเรืองตอนเราเด็กๆ ต่อมาคุณพ่อก็ไปเปิดโรงงานแปรรูปในตอนนั้นแล้วธุรกิจล้ม ตอนพี่อายุ 14
คุณฮิม วิศัลย์ WARRIX มาแชร์ประสบการณ์ปั้นธุรกิจ จาก 0 เป็น 1,000 ล้าน ในหลักสูตรหลักสูตรผู้บริหาร XMBA
ธุรกิจคุณพ่อล้ม ตอนอายุ 14
ใช่ครับเด็กอายุ 14 ปี คุณพ่อธุรกิจล้ม
จากอนาคตสานต่อธุรกิจที่บ้านแบบสบายๆ
ในตอนนั้นพี่ฮิมเริ่มรู้ตัวแล้วว่า
ต้องเริ่มดูแลตัวเอง เริ่มออกหาเงินด้วยตัวเอง
พี่ฮิมตัดสินใจเริ่มเป็นครูสอนพิเศษ ชั่วโมงละ 50 บาท โดยใช้ความรู้ ที่เรียนมาสอนวิชา คณิตศาสตร์ ? แต่เพราะอะไรล่ะ พี่ฮิมในวัยเด็กนั้นเป็นคนที่เรียนเก่งและสามารถสอบวิชาคณิตศาสตร์ได้อันดับ 1 ของประเทศไทย
อีกอย่างหนึ่งที่พี่ฮิมทำในตอนนั้นคือ รับจ้างถ่ายรูปครับโดยใช้กล้องที่มีอยู่แล้วที่คุณพ่อซื้อให้ ตัวพี่ฮิมก็เป็นคนชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว จึงไปรับงานถ่ายรูปงานศพได้งานละ 400 บาท งานรับปริญญา ถ่ายงานแต่ง ตอนนั้นพี่ฮิมรับหมด ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้ทางทีมงานเรารู้สึกประหลาดใจและว้าวมากๆ ครับ
เอาล่ะยังมีเรื่องให้น่าตื่นเต้นอีกเยอะสำหรับเรื่องราวของชายคนนี้ครับ ลุยต่อ …
ความคิดเด็กอายุ 14 กับการเป็นผู้ประกอบการมายังไง?
“ จริงๆ แล้วพี่มีความรู้การประกอบการตั้งแต่ตอนนั้น คือ เพื่อนพ่อเป็นเจ้าของโรงงาน มีของที่มันไม่ผ่านการส่งออกเราก็ไปขอซื้อเขา มาคัดมาแยกว่าอะไรใช้ได้ อะไรใช้ไม่ได้ แล้วก็แพ็คส่ง ตามท่าเรือ นั้นคือความเป็นผู้ประกอบการ เริ่มต้นตั้งแต่ตอนพี่อายุ 14 “
เป็นเรื่องที่ทีมงานเซอร์ไพรส์มากๆ ครับ
นั่นคือความคิดเด็กอายุ 14 ของพี่ฮิม
โดยพี่ฮิม ยังให้รายละเอียดเพิ่มเติม
เกี่ยวกับเรื่องนี้อีกว่า…
” พี่มีน้องสาวสองคน คุณพ่อไม่มีตังค์ส่งเรียน ตอนนั้นพี่ไปซื้อโรงงาน ตุ๊กตา ตุ๊กตาแบบมีเครื่องกล ให้น้องมาคัดอันไหนเล่นได้ เล่นไม่ได้ กองนี้เล่นได้ กองนี้เล่นไม่ได้ กองที่เล่นได้เอาพลาสติกห่อ น้องห่อเสร็จ พี่ก็เอาใส่ถุง ไปขายตามท่าเรื่อ ท่าเรือคลองสาน ท่าเรื่อง4พระยา พี่ก็จะมีร้านไปฝากขาย ฝากขายเสร็จไปเก็บตัง นั้นคือตอนพี่อายุ 14 วันเสาร์อาทิตย์สอนพิเศษ เย็นวันธรรมดาวันไหนมีงานศพก็ไปรับจ้าง ถ่ายงานศพ ช่วงฤดูรับปริญญา ก็รับจ้าง ถ่ายงานรับปริญญา ตั้งแต่อายุ 14 เป็นต้นมา “
นี่คือเรื่องราวของพี่ฮิม ในวัย 14 ปี ยังขนาดนี้ บอกได้เลยว่าก่อนที่ทีมงาน THE INSIDER จะเข้าไปสัมภาษณ์พี่ฮิม ได้มีการหาข้อมูลมาแล้วแต่ก็ไม่ได้รู้ลึกถึงขนาดนี้ เซอร์ไพรส์มากๆ ครับ
การกลับมาของธุรกิจไม้
“ ตอนนั้นพี่อายุ 14 ก็มีความเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่นั้น ได้เรียนฟรี ค่าเทอมไม่ต้องจ่าย ค่ากินค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ยังคงต้องจ่ายอยู่ คุณพ่อก็เฟื่องฟูขึ้นมาอีกครั้งตอนพี่ขึ้นมหาลัย ก็คือธุรกิจไม้อันเดิมนี่แหละ แต่ตอนนั้นพ่อไม่ทำโรงเลื่อยแล้ว ไม่ทำโรงงานละ ก็เปลี่ยนเป็นค้าขายไม้ตามชายแดน จากนั้นพี่ก็เรียนจบ คณะบัญชีจาก จุฬาฯ ก็ได้ทำงานเป็นฝ่ายการตลาด จัดจำหน่ายที่ เครือซีเมนต์ไทย ซึ่งพี่ก็มองว่ามันกำลังไปด้วยสวย จนคุณพ่อพี่ถามว่า ลาออกจากเครือซีเมนต์ไทยมาทำงานธุรกิจไม้กับพ่อมั้ย ? ”
คำถามจากคุณพ่อและคำตอบของพี่ฮิม
“ พ่อพี่ถาม ว่าลาออกมั้ยแล้วมาทำงานกับพ่อ พี่ตอบเลยไม่เอา
เพราะพี่ไม่ชอบการใช้ชีวิตที่พี่เห็นมาตั้งแต่เด็ก
พี่เลยอยู่เครือซีเมนต์ไทยต่อ จะทำธุรกิจอะไรไม่รู้
แต่ตอนที่พี่ออกจากบ้านตอนอายุ 14 ได้สัญญากับตัวเองไว้ว่า
ก่อนอายุ 30 พี่จะทำให้ได้มากกว่าจุดสูงสุดที่พ่อเคยมี
แสดงว่ามีทางเดียวที่ทำได้ คือ การทำธุรกิจ
แต่พี่จะไม่ทำเหมือนของพ่อ เพราะธุรกิจไม้ ไม่ยั่งยืน
เพราะมันต้องตัดไม้ทำลายป่า แต่ตอนนั้นพี่ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร
เสื้อผ้ากีฬาไม่ได้อยู่ในหัวพี่เลยตั้งแต่ Day 1 ”
และหลังจากนั้น พี่ฮิมได้บอกกับทีมงานว่า ช่วงก่อนที่เขาจะอายุ 30 ปี
พี่ฮิมได้อยู่ที่เครือซีเมนต์ไทยมากว่า 3 ปี ได้เป็นฝ่ายพัฒนา
ไปทำร้านซีเมนต์ไทยโฮมมาร์ท พี่ฮิมก็ได้มีโอกาสย้ายงาน
ไปเป็น Export Sale Manager
ที่เครือนันยางเท็กซ์ไทล์ ซึ่งพอพูดถึงนันยางเราก็จะนึกถึงรองเท้ากันใช่มั้ยครับ
แต่กลุ่มบริษัท นันยางเท็กซ์ไทล์ แตกต่างไปจากนั้นครับ
ทีมงาน ขออนุญาติขยายความให้ทุกท่านได้เข้าใจไปพร้อมๆ กันครับ
โดย กลุ่มบริษัท นันยางเท็กซ์ไทล์ คือ กลุ่มบริษัทที่มีความความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม สิ่งทอและเสื้อผ้า ในปัจจุบันได้ให้บริการสิ่งทอ ครบวงจร ตั้งแต่การปั่นเส้นด้าย การผลิตผ้าผืน การย้อมและการตัดเย็บเสื้อผ้า
เอาล่ะครับตามกันทันแล้ว เราไปกันต่อเลยครับ …
ภาพคุณฮิม วิศัลย์ WARRIX ลงมาให้แนะนำนักธุรกิจแบบตัวต่อตัว ในหลักสูตรผู้บริหาร XMBA
ประสบการณ์สู่ความชำนาญ
หลังจากได้ย้ายงานไปที่ เครือนันยางเท็กซ์ไทล์ ถึง 4 ปี เป็น Export Sale และได้ทำการตลาดให้กับทาง เครือนันยางเท็กซ์ไทล์ พี่ฮิมจึงมีความชำนาญในเรื่องของวัตถุดิบที่บริษัทขายให้กับ แบรนด์เสื้อผ้ากีฬา ชั้นนําของโลก จากประสบการณ์ตรงนี้เอง ทำให้พี่ฮิมมีความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบ ผ้ายืด รวมทั้งวัตถุดิบเสื้อผ้ากีฬา ในตอนนั้นพี่ฮิม อายุ 28 ปี และเริ่มอิ่มตัว
พี่ฮิมบอกกับเราว่า…
” พี่ก็ทำงานมา 2 ที่แล้ว ก็คือบริษัทปูนที่เป็น บริษัท มหาชน
แล้วก็ไปทําบริษัทแบบ Family Business ที่เขาใหญ่มากๆ
หลายหมื่นล้าน แล้วตอนอยู่ปูนก็ทํา Local Marketing
เดินทางทั่วประเทศเลย รู้จักตัวแทนจําหน่ายทุกจังหวัด “
“ พอไปทํานันยาง ก็ 5 วันอยู่ต่างประเทศ อยู่ไทย 2 วัน บางวันนอนโรงงานด้วย
เพราะโหลดของเข้าเอง มันก็ทําให้รู้สึกว่าเราอิ่มตัวการเป็นตรงนี้
แล้วเป้าหมายเราล่ะ เหลืออีกสองปีมันจะต้องมีมากกว่าจุดสูงสุดที่พ่อมี
พี่เลยตัดสินใจลาออก ”
เริ่มต้นธุรกิจ
หลังจากที่พี่ฮิม ลาออกจาก นันยางเท็กซ์ไทล์ ก็ได้เริ่มทำธุรกิจของตัวเองด้วยการ ไปซื้อจักรเย็บผ้าจำนวน 3 ตัว บวกกับมีความรู้เรื่องวัตถุดิบ จึงได้สั่งจ้างผลิตเสื้อผ้าแล้วส่งขายโรงเรียนนานาชาติ
ในตอนที่พี่ฮิม เริ่มต้นธุรกิจ “ โดยที่คนอื่นบอกว่า เป็นไปไม่ได้หรอก
ซื้อจักรเย็บผ้ามา 3 ตัว จะมาทำธุรกิจขึ้นมาได้ยังไง หลายๆ คนมองว่าเป็น
ไปไม่ได้กันทั้งประเทศ แบงค์ก็ไม่ให้กู้ ทั้งแบงค์ทั้งคนทั่วไป
รวมถึงเพื่อนๆ ของพี่ฮิมเอง ก็ยังมองว่ามันเป็นไปไม่ได้ ”
นั่นคือ ณ 20 ปี ที่แล้ว แต่พี่ฮิมไม่ทำเหมือนคนอื่น
เพราะไม่ได้ไปรับจ้างใครผลิต โดยจุดนี้ พี่ฮิม
ได้อธิบายขั้นตอนในการทำงานของเขาว่า…
” เราไปซื้อเส้นด้าย ไปจ้างคนทอผ้า จ้างคนย้อมผ้า ผ้าออกมาแล้วเราก็มาเย็บเป็นเสื้อ แล้วเราก็นำเสื้อไปขายให้กับโรงเรียนนานาชาติ ขายให้กับบริษัท มันมีช่องว่าง คือ คนต้องการของดีๆ คุณภาพดี ระยะเวลาสั้นๆ จำนวนน้อยๆ โรงงานใหญ่ทำไม่ได้เลย “
” ในตอนนั้นถ้าของดีๆ ก็จะมีโรงงานใหญ่ๆ ที่ต้องสั่งขั้นต่ำจำนวนเยอะๆ เป็นแสนตัว ราคาก็ไม่ถูก แถมยังใช้เวลานาน 6 เดือนขึ้นไป ถ้าจะสั่งวันนี้เอาอีกในสองอาทิตย์ สั่งแล้วอีก 1 เดือนเอาเลย ไม่มีทางครับ ที่โรงงานเหล่านั้นจะทำให้ เพราะจำนวนน้อยเขาไม่คุยด้วยเลย “
จากที่พี่ฮิมได้เล่ามาถึงตอนนี้เท่ากับว่า ผู้ชายคนนี้เริ่มธุรกิจโดยอาศัยช่องว่าง 3 ข้อ ที่โรงงานใหญ่ๆ ไม่ทำกัน คือ
- สั่งจำนวนน้อยๆ
- ของคุณภาพดี
- สั่งใช้ระยะเวลาไม่นาน
ขายต่อกิจการ
พี่ฮิม ลาออกจากนันยางฯ มาก่อตั้งธุรกิจทอผ้า
เป็นของตัวด้วยจักรเย็บผ้าเพียง 3 ตัว ก็พัฒนาเป็นร้อยตัว
สุดท้ายก็มีจักรเย็บผ้าอยู่ 500 ตัว
ก่อนที่พี่ฮิมจะขายกิจการต่อให้กับน้องของเขา ตอนนั้นพี่ฮิมอายุ 30 ปี
เขาได้อยู่ในจุดสูงสุด กว่าที่คุณพ่อเขาเคยมีจริงๆ
หลังจากขายกิจการ พี่ฮิมได้ไปใช้หนี้ให้คุณพ่อย้อนหลัง
พร้อมจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมด ย้อนหลังไป 15-30 ปี
นี่คือหนึ่งในความภาคภูมิใจของ พี่ฮิม วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีกุล และ คุณพ่อของเขา
เรื่องเข้าใจผิดที่พี่ ฮิม อยากบอก
” จริงๆ แล้วคุณพ่อไม่เคยถูกฟ้องล้มละลาย หลายๆ คนไปเขียนว่า
ธุรกิจเคยล้มละลาย พี่ก็บอกว่า WARRIX ไม่เคยล้มละลายนะ
คุณพ่อก็ไม่เคยล้มละลาย แต่แค่ธุรกิจล้ม คือ เขาเจ๊งแล้วเขาหมดตัว
เราไม่มีบ้านอยู่ แต่ก็ไม่ได้ถูกฟ้อง แล้วเขาก็ฟื้นมาตอนเราเรียนมหาลัย
อันนี้ก็เป็นประสบการณ์ที่ดี “
” มันกลายเป็นแรงผลักดันให้พี่มีแรงเยอะกว่าคนอื่น
มีพลังในการที่จะสู้กับการทําธุรกิจมากกว่าคนอื่น “
ตอนธุรกิจพ่อล้ม พี่ฮิมรู้สึกยังไงในตอนนั้น ?
” ณ วันที่พ่อพูดว่า ธุรกิจมันล้มแล้ว เราไม่เข้าใจเลย เป็นไปได้ไง
โรงงานใหญ่โต มโหฬาร มันไม่เหลือแล้ว เป็นไปได้ไง เราไม่เข้าใจ “
” พ่ออธิบายยังไงก็ไม่เข้าใจ แต่พอเราโตมาเราเริ่มเข้าใจแล้ว
มันผิดพลาดตรงนั้นตรงนี้ เราก็เอามาเป็นบทเรียน
พอโตมาแล้วก็เข้าเรียนต่อที่จุฬาฯ จบคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
เรียนการจัดการแบบกว้างๆ แล้วก็เพิ่งมาเรียนต่อที่ คณะนิติศาสตร์จุฬา เรื่องกฎหมายภาษี ก่อนบริษัท ”WARRIX” เข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็คิดว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่ทําให้เรามีแรงในการที่จะขยัน “
ถูกโกงเงิน 40 ล้าน
ผ่านไป 11 ปี ในการทำธุรกิจโรงงานผ้า พี่ฮิม ก็ใกล้จะเข้าสู่วัยเลขสี่
ตอนนั้นเขามองว่า ธุรกิจเกี่ยวกับเสื้อผ้ากีฬา มีโอกาสมากเลย
แต่เจตนาแรกของเขานั้น ตอนทำโรงงานทอผ้า
ไม่ได้คิด ที่จะกระโดดเข้ามาทำเสื้อผ้ากีฬาตั้งแต่แรก
พี่ฮิม เป็นคนที่ชอบดูบอล แต่เล่นฟุตบอลไม่เป็น
นั้นก็คือความคิดที่เป็น ไอเดียเล็กๆ ของพี่ฮิม ในตอนนั้น
แล้วใครจะไปคิดล่ะครับว่า หลังจากนั้นเนี่ย ได้มีเหตุการณ์ที่ พี่ฮิม
บอกกับเราในตอนสัมภาษณ์
ว่าเคยถูกโกงเงิน 40 ล้าน
ผมที่เป็นคนสัมภาษณ์ พี่ฮิม อึ้ง ทีมงานก็ร้องโห อึ้งกันทั้งหมด
มันเยอะมาก โดนโกงเยอะขนาดนี้ ด้วยความสงสัยผมจึงขอให้พี่ฮิมเล่า
เหตุการณ์นี้ให้เราฟัง…
พี่ฮิมเล่าว่า…
” พี่มีเพื่อนอยู่คนหนึ่งทํา เสื้อผ้ากีฬายี่ห้อหนึ่ง เขาก็เก่งมาก
เขาเก่งในเชิงนักออกแบบ เขาเป็นเซลล์ได้ในบางครั้ง
แต่เขาไม่เข้าใจไฟแนนซ์ ไม่เข้าใจเรื่องบัญชี ไม่เข้าใจเรื่องของ Marketing
เขาทําธุรกิจมา 3 ปี ธุรกิจโตได้นะ แต่มันไม่โต มันติด
ติดเพราะแบงค์ไม่ให้กู้ ธุรกิจก็โตไม่ได้ พี่ก็เลยเข้าไปช่วยเขา “
” กลายเป็น เขาก็ไม่มีวินัยทางการเงิน ก็โกงเงินเราไป 40 ล้าน
เราก็ต้องไปแก้ไข พี่ก็ไม่ได้โกรธเขานะ ถือว่าเขาอาจจะไม่ได้เจตนา
ทีนี้มาจุดนั้นมันก็มองว่า เออ เราต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาในการที่จะขายของ
ที่เพื่อนเอาเงินไปหรือของที่ให้เราขาย “
” สุดท้ายเราก็ไม่ได้ทําแบรนด์นั้นต่อนะ เราเริ่มต้นแบรนด์ใหม่ของเราเอง “
ตอนนั้นเขามาจ้างโรงงานของพี่เหรอ?
ตอนนั้นเขามาจ้างโรงงานของพี่เหรอ ?
” ตอนนั้นที่เข้าไปช่วยในลักษณะที่ ธุรกิจพี่ไปได้ ของเขาไปได้
เราเข้าไปช่วยลักษณะของการใช้เครดิตจากหน้าเราเนี่ย ไปจ้างโรงงานอื่นผลิต “
” อาเจ็ก อาเฮียทั้งหลาย ถ้าเพื่อนผมไม่จ่ายตังค์ผมรับผิดชอบ สรุป มันไม่จ่ายจริง !! พี่คุมไว้ว่าสั่งของไม่ให้เกินเดือนนึง 20 ล้าน ทุกใบ PO ต้องมีคําสั่งซื้อ ที่เป็นลายเซ็นต์ของพี่ “
เริ่มได้กลิ่นแปลกๆ
” แรกๆ ก็ได้นะ 3 เดือน พอผ่านหลังจาก 3 เดือนไป เอ๊ะ ! ทําไมมัน แปลกๆ พอผ่านไปอีก 4 เดือน ครบ 7 เดือน พี่นี่ร้อง โอ้โหเลย มี Invoice เรียกเก็บเงินเต็มไปหมดเลย ก็คือมีการไปแอบสั่งซื้อสินค้า โดยที่ไม่ได้ผ่านพี่ สุดท้ายพี่ก็ต้องเอาหน้าพี่ไปรับ เพราะเราเอาเครดิตเราไปการันตี ตั้งแต่วันแรก “
” พี่ไม่ได้เป็นคนเซ็นต์ เขาเป็นคนเซ็นต์เอง สั่งซื้อเอง เราก็พบว่าระบบนี่
เรียกว่าระบบควบคุมภายใน ที่เรากับซัพพลายเออร์เราไม่ได้ตกลงกัน
ว่าต้องเป็นลายเซ็นต์ใคร ก็ออกจากระบบเรานี่แหละ
แต่พนักงานก็ให้เขาเซ็นต์โดยที่ไม่ผ่านเรา พี่ก็โอเคแต่ เซ็นต์เอง
สั่งของไปขายเอง แต่เงินไปไหนไม่เข้าบริษัท ? แต่ของที่สั่งมาขายได้นะ
แต่เงินไม่เข้าบริษัทพอพี่ไปเช็กดูก็พบว่า เขาให้พี่สาวไปเก็บเงิน
ให้หลานไปเก็บเงิน เงินทั้งหมดก็เข้าส่วนตัวเขา “
“WARRIX ถือกำเนิด”
” ตอนนั้นก็เป็นเรื่องเป็นราว เป็นคดีความ ก็ต้องมีทนายมาจัดการแต่สุดท้าย ก็เจรจากันจบได้ แต่ก็จบกันแบบมีร่องรอย ที่เราก็ต้องไปแก้ต่อ 40 ล้าน ตอนนั้นเรื่องใหญ่นะ แต่ก็ไม่ถึงขั้นทำให้ธุรกิจหลักของพี่เจ๊ง โรงงานก็ต้องดำเนินกิจการต่อ ของ 40 ล้าน ที่สั่งมาก็ต้องขาย ก็เลยตัดสินใจ สร้างแบรนด์ใหม่ ซะเลยนั่น คือ ”WARRIX“
พี่ ฮิม สร้าง WARRIX….แต่สร้างให้เพื่อนไม่ใช่ตัวเอง ?
พี่ฮิมเล่าว่า หลังจากจบเรื่องคดี 40 ล้าน เขาได้สร้างแบรนด์ที่ชื่อว่า WARRIX ขึ้น
แต่พี่ฮิมไม่ได้สร้างเพื่อที่จะเอามาทำเอง เขาสร้างเพื่อที่จะให้เพื่อนอีกคนหนึ่ง
แต่เมื่อเพื่อนคนนั้นได้มาทำ กลับบอกว่า ไม่เอา ไม่ไหว พี่ฮิมเลยรับไว้เอง
ทำไมถึงตั้งชื่อว่า WARRIX ?
ชื่อแบรนด์ ”WARRIX” เกิดจากชื่อของพี่ ฮิม นั่นคือ วิศัลย์
ผสมกับคำว่า Warrior คือ ประวัติการสู้ชีวิตทั้งหมด
ของพี่ฮิม วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล กลายมาเป็น ”WARRIX“
ภาพคุณฮิม วิศัลย์ WARRIX ตอบคำถามอย่างเป็นกันเอง หลังจบ Session ในหลักสูตรผู้บริหาร XMBA
ตอนนั้นพี่ฮิมทํายังไงให้เสื้อผ้าของ WARRIX ที่เป็นแบรนด์น้องใหม่ ไม่ได้มีใครเชื่อถือ ขายได้ ?
” ผมเริ่มต้นจากกลยุทธ์ป่าล้อมเมืองก่อนครับ โดยเริ่มจาก จังหวัดหลักๆ
โคราช เชียงใหม่ ก็จะขยายไปอุบล อุดร ทําการตลาด อันแรกเลยคือต้องคิดต่าง
ผมไปใช้ License Marketing คือ การเป็นสปอนเซอร์ทีมฟุตบอลประจําจังหวัด
นครราชสีมา Mazda FC แล้วก็ไปเชียงใหม่ “
” จากนั้นก็ค่อยๆ ขยายพื้นที่ไปมากกว่านั้น ช่วงแรกพี่ต้องพึ่งร้านค้า
เราก็ต้องเอาของไปวางตามร้านค้า ให้เขาซื้อ
มันไม่ง่ายเลยเพราะร้านที่เราเอาของไปวางเขาก็มีแบรนด์
ที่ขายให้กับทีมชาติอยู่แล้ว “
มีแบรนด์ใหม่และแบรนด์ที่จากไปตลอดเวลา คุณวิสันต์คิดว่าอะไรที่ทําให้ เฮีย ต้องซื้อของคุณ
คำถามจากร้านค้าร้านหนึ่งที่ พี่ฮิม จะนำเสื้อกีฬาของ WARRIX ไปวางขาย
เรื่องนี้พี่ฮิมได้ใช้วิชาความรู้ที่สะสมมาจาก เครือซีเมนต์ไทย
โดยเริ่มจากการทำการตลาดทั้งแบบ ออฟไลน์และออนไลน์
จน WARRIX ค่อยๆ โต
เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้นและเรียกหา WARRIX จนเฮียเจ้าของร้าน
ที่พี่ฮิมลงสินค้า ถึงขั้นต้องโทรหาพี่ฮิม ด้วยตัวเองเพื่อสั่งสินค้า
มาวางขายเพิ่ม และนี่ก็คือการทำการตลาด ของ WARRIX ในยุคแรก
ซึ่งถือว่าเริ่มต้นได้ดีเลยทีเดียวครับ
งานประมูลเสื้อทีมชาติ
ในตอนนี้แบรนด์ WARRIX ได้มาถึงช่วงของการประมูลเสื้อทีมชาติ
พอเข้าปลายปีที่ 3 จะเข้าปีที่ 4 พี่ฮิม ก็ไม่คิดว่าโอกาสประมูลเสื้อทีมชาติไทยจะมาเร็วขนาดนั้น เพราะมันคือสิ่งที่พี่ฮิม อยากทําอยู่แล้วนั่นเอง แต่คิดว่าตราบใดที่ยังคงเป็นระบบเดิม “เราคงประมูลไม่ได้หรอก” คำถามคือแล้วพี่ฮิม ทำอย่างไรกันล่ะ?
พี่ฮิมเล่าว่า ” ช่วงนั้นก็ไม่คิดว่ามันจะมีโอกาส แต่พอโอกาสเปิดฟ้าเปิด ผนวกกับช่วงนั้น มีการเปลี่ยนแปลงระดับโลก คือ มีการไปจับผู้บริหารฟีฟ่าไปสอบสวน แล้วยังมีการล้างคอร์รัปชันทั่วโลกในวงการฟุตบอล ซึ่งปีนั้นเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนักหน่วง ในวงการฟุตบอลทั่วโลก “
ไม่คิดว่า WARRIX จะชนะการประมูลเพราะตัวเองไม่มีพวก ?
ด้วยเหตุการณ์นี้เองส่งผลให้ทางผู้บริหารสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยเปิดการประมูลเสื้อทีมชาติใหม่
พี่ฮิมได้เล่าถึงเหตุการณนี้ว่า …
” ผู้บริหารในสมาคมฟุตบอล เปิดโอกาสให้มีการประมูลใหม่
พี่ก็ไปร่วมงานแล้วก็ไปประมูลโดยที่เราไม่คิดว่าเราจะได้ด้วยซ้ํา
เพราะก็ไม่รู้ว่าใครเป็นพวกใคร “
ผู้มีอำนาจเขาอยากช่วย ?
เคยมีคนพยายามจะชวนให้พี่ฮิม โทรศัพท์ติดต่อคุยกับผู้มีอํานาจ
ก่อนวันประมูลพี่ฮิมบอกไปว่า ไม่คุย
โดยให้เหตุผลว่า ” พ่อแม่ผมไม่รู้จักเขา ไม่รู้จักใคร
แล้วผม ก็ไม่รู้ว่าคุยเพื่อที่จะได้ประโยชน์อะไร อีกอย่างหนึ่งคือ
ผมจะไม่จ่ายใต้โต๊ะให้ใครทั้งนั้น “
เสนอแผนการตลาดขายเสื้อทีมฟุตอลในเซเว่น กรรมการหัวเราะ?
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ฮิมบอกกับทีมงานของเราว่า จำไม่เคยลืมเลยคือ
การเสนอแผนการตลาดให้กับกรรมการในงานประมูลเสื้อทีมชาติ
เพราะไม่มีใครเลยที่จะเคยได้ยินแผนการตลาดแบบนี้และไม่เชื่อว่าแผนนี้จะทำได้
พี่ฮิมบอกว่า…
“ถ้าผมไม่ทําเกมที่แตกต่าง ผมจะไม่สามารถจ่ายตัวเลขนี้ได้ ปีละร้อยล้าน”
ส่งคนไปชายแดน อลัญประเทศเพื่อเก็บข้อมูลสินค้าปลอม
พี่ฮิม ได้ให้คนที่จะจ้างเป็นคนขับรถ ไปแฝงตัวอยู่ที่ชายแดนเพื่อเก็บข้อมูล
จากการขนส่งเสื้อปลอมอยู่ที่ อรัญประเทศอยู่ไปได้ 1-2 สัปดาห์ จนรู้ว่าเขาขนส่งเข้ามากี่ตัน
“ พี่ก็ให้เขาไปเช็คข้อมูลย้อนหลัง แล้วก็เอาจํานวนตันมาคูณว่ามันประมาณกี่ตัว แปลงมาเป็นตัวเลขยอดขาย ”
“ นี่คือ Data ที่ทำให้รู้ว่าเราจะขายของแบบไหน จะขายของราคาเดียวเหมือนที่บุรีรัมย์ขาย หรือจะทําแบบที่เราทําทุกวันนี้ เป็นแบบที่ ในลีกยุโรปทํากัน นั่นคือขายเสื้อเกรดนักกีฬาไปเลย สิ่งที่ยุโรปไม่มีคือเชียร์เกรด ที่เรามียุโรปไม่มี ”
ทีมงานขอแวะขยายความในกรณีการขายเสื้อกีฬาของ ทีมบุรีรัมย์
ทีมบุรีรัมย์ เป็นตัวอย่างที่ดีมากสําหรับวงการเสื้อฟุตบอลไทยครับ
คือ ขายราคาเดียว ทำเสื้อเกรดเดียว ในราคาย่อมเยาครับ
ซึ่ง ณ วันนั้นเขา ขาย 690 บาท ต่อตัว แต่ขายออกไปทีละล้านตัว
ซึ่งถือเป็นตัวอย่างการทำการตลาดที่ดีมากๆ ครับ สามารถทำเงินได้อย่างมหาศาล
กับกลยุทธ์อีกหนึ่งกลยุทธ์ ที่พี่ฮิมเห็น ก็คือเป็นเกรดนักฟุตบอล ซึ่งมันจะแพง
เป็นระบบที่ฝั่งยุโรปใช้กัน ซึ่งคุณภาพก็จะดีกว่า
ย้อนกลับมาที่ แบรนด์ WARRIX จริงๆ นักฟุตบอลก็ควรจะใส่แบบนั้น
พี่ฮิมมองว่า เสื้อแต่ละตัวมันมีหน้าที่ของมัน ต้องดึงแล้วไม่ขาด
เหงื่อแห้งเร็วและระบายอากาศได้ดี
พี่ฮิมได้บอกอีกว่า ตัวเกรด Replica ที่แฟนบอลซื้อมันไม่ควรแพงขนาดนั้น
เพราะเราใส่ไปเชียร์ ไม่ได้ใส่ไปเล่น มันก็ควรจะทนระดับหนึ่ง พี่เลยทำเป็น Innovation เลย
ประเทศไทยส่งออกเสื้อทีมชาติปลอม 10 ล้านตัว พี่ฮิมจัดการยังไง ? กลยุทธ์เปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตร ของพี่ฮิม “WARRIX”
พี่ฮิมให้ข้อมูลตรงนี้ไว้ว่าแค่เฉพาะ ชายแดนอรัญประเทศที่เดียว
เข้ามา 10 ล้านกว่าตัว แล้ว WARRIX จะแข่งเขายังไง ?
พี่ฮิมได้วางแผนจะเปลี่ยนคนขายของปลอมมาขายของจริง
พี่ฮิมเล่าว่า ” ไปไล่จับเขาก็ไม่มีประโยชน์อะไร จับมาก็ได้แต่เด็ก อายุไม่ถึง 18 กับคนแก่ เป็นแบบนี้ทุกประเทศเลย ไปจับที่มาเลย์ก็อย่างนี้ จับได้แต่คนแก่ จับไปก็ไม่ไปถึงต้นตอ “
” พี่เห็นตามตลาดกลางคืน ขายไม่กี่ชั่วโมง ก็ต้องเก็บของ แต่พี่ขายใน เซเว่น 24 ช.ม. หมื่นสาขา 399 บาท กลไกราคานี้เป็นสิ่งที่สากลไม่มี “
“ เราเป็นประเทศแรกและเผลอๆ ก็น่าจะเป็นต้นแบบที่ดีให้อีกหลายประเทศ ที่ต้องไปสู้กับของปลอม แบบใช้กลไกตลาด, ราคาไปสู้ สุดท้ายทุกวันนี้ของปลอมอยู่ยาก และก็แทบไม่มี เจออยู่บ้างในโลกออนไลน์ พี่ก็แจ้ง รีพอร์ต ก็ปิดเพจไป “
” คือถ้าคิด จะขายของปลอมนี่หยุดเลยมาขายของจริงดีกว่า ส่วยก็ไม่ต้องจ่าย ไม่ต้องกลัวด้วย เท่าที่ผมเข้าใจคือเราเป็นประเทศแรกเลย คือเป็นความกล้าของ WARRIX ที่กล้าสู้กับระบบขายของปลอม ” พี่ฮิมกล่าว
ทำไมถึงทำเสื้อบอล 3 เกรด ซึ่งไม่มีเขาทำกัน?
เสื้อ 3 เกรด นี้ ต้องอธิบายก่อนว่า 2 เกรดแรก คือ เกรด นักกีฬา และเกรดแฟนบอล ส่วนอีกเกรดที่เพิ่มเข้ามาก็คือ เกรด กองเชียร์ 399 บาท นั่นเองครับ นั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกกลยุทธ์ การทําเสื้อทีมชาติไทย ของ พี่ฮิม แห่ง WARRIX
ยอดขายเป็นอย่างไรบ้าง?
พี่ฮิม ได้ให้สัมภาษณ์ว่าในปีนั้นยอดขายของ WARRIX ตอนได้สโมสร คือ 60 ล้าน ปีต่อมา 130 กว่าล้าน สโมสรก็เพิ่มขึ้น ปีถัดมาได้ 180 ล้าน พอถึงปีที่จะได้ทีมชาติไทย เงินทุนแบงค์มากลางปี
” หลังจากได้เงินทุนมายอดขายก็พุ่งทยานไป 574 ล้าน
จาก 181 ล้าน เพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าในปีเดียว
โดยปีถัดไปมีเงินทุน เข้ามาครบ ก็ได้มา 700 ล้าน แต่นั่นก็ยังไม่ถึงจุดที่ดีนัก “
บอกเลยว่ายอดขายพุ่งแบบฉุดไม่อยู่เลยทีเดียวครับ แม้จะทำรายได้ไปกว่า 700 ล้าน พี่ก็ยังมองว่า ยังไม่อยู่ในจุดที่พอใจ แต่ยังไม่ทันได้ทำอะไร โควิด ก็เดินทางมาถึง
เหตการณ์นี้ส่งผลอย่างไรกับ “WARRIX” มาติดตามกันต่อครับ
COVID-19
หลังจากดำเนินกิจการมาได้ระยะหนึ่งทุกอย่างกำลังไปได้ดี จนกระทั่ง WARRIX
เจอกับโควิด ทำให้ยอดขายลดลง เหลือ 650 ล้าน อยู่ประมาณ 2 ปี
แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พี่ฮิม ท้อแต่อย่างใด และสามารถพา WARRIX ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้
จุดเปลี่ยน ทําไมถึงเข้าตลาดหลักทรัพย์ ?
“ พี่เข้าไปเพื่อจะทําความฝันของพี่ให้เป็นจริง คือไปแล้วโตต่อ นั่นคือวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องและแท้จริง ของการเข้าสู่ตลาดทุน พี่ได้ทุนคุณภาพดีมาไม่ว่าจากรายใหญ่ รายย่อยหรือสถาบัน “
“ พี่ได้ทุนคุณภาพดีหรือ Quality Fund มา Matching เราก็ต้องทําตัวเป็น Quality Investor ก็คือ เป็นบริษัทที่ระดมทุนมาเพื่อ ต่อยอด, เติบโต ให้เงินเขา งอกงามหลายๆ เท่า “
ระบบที่ดี เครื่องมือต้องพร้อม จริงมั้ย?
ย้อนกลับไปสมัยที่ WARRIX เป็น SMEs ครับ แบงค์ไม่ยอมให้กู้ซอฟต์แวร์ เพราะมันยึดไม่ได้
ผมไม่รู้ประเทศอื่นเป็นไงนะ แต่ประเทศไทยเป็นแบบนี้
“ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ พี่มองว่า มันต้องมีซอฟต์แวร์ ใช้ในการพัฒนาระบบ
ทั้งหน้าบ้าน หลังบ้าน มันจำเป็นมากๆ สำหรับพี่ ”
เพื่อไม่ให้เราเสียเปรียบคนอื่น ทำให้ WARRIX มีความสามารถในการแข่งขัน เมื่อพี่สามารถ ลงทุนซอฟต์แวร์ได้ ลงทุนด้าน Data Management ได้ ลงทุนด้าน Ai ได้ ลงทุนด้าน E-Commerce ได้
เมื่อเราสามารถลงทุนทั้งหมดนี้ได้ พี่ก็ลุยเต็มแม็กซ์เลย
และยังสามารถที่จะพัฒนาคน สร้างคนให้เพียงพอต่อความต้องการของงาน
พี่ฮิมเล่าเรื่องการเป็นผู้นำแบบหัวรถลาก ให้พวกเราฟังหน่อยครับ
” พี่เป็นผู้นําองค์กรแบบ เอาผลลัพธ์เป็นที่ตั้งครับ
ตอนเด็กๆ เราเรียนมา ถูกหลอกว่า คําตอบมีคําตอบเดียวถึงจะได้เกรดสี่
มันต้องกากบาท A B C D ให้ถูก ถึงจะได้ เกรด 4
แต่ตัดมาที่ชีวิตจริงมันไม่ได้มีคําตอบเดียวเพื่อจะให้ได้ผลลัพธ์นั้น
แต่เราถูก Mindset แบบนี้บล็อกไว้ ”
เวลาพี่บอกลูกน้องว่า พี่ต้องการยอดขายเท่านี้นะ ไปทํามาให้ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องถูกจริยธรรม
ซึ่งเราก็ไม่เคยถูกสอนใน Business School หรือสมัยเรียนนะ ทําไงก็ให้ได้ เกรด 4 แบบถูกจริยธรรม
ในปัจจุบันนี้ก็กลายเป็นเรื่องขำขันของพี่คือในตอนนั้น
พี่จะใช้วิธีการออกคําสั่งไม่ใช่ คําถาม พี่เผด็จการเลย ถ้าทําไม่ได้ให้บอก
พอสั่งแล้วก็ต้องมีการตามงาน สอนงาน
วิธีการทําก็คือ พี่จะทําให้ดูก่อน แล้วให้ลูกน้องทําคนละครึ่ง
แล้วพี่จะคอมเมนต์ว่าคุณมี ข้อผิดพลาดตรงไหน หลังงานเสร็จ
นี่คือการ เป็นผู้นำแบบหัวรถลากของพี่
วิธีแบบนี้พี่ฮิมได้มาจากสมัยทำอยู่ เครือซีเมนท์ไทย
หลังจากพา WARRIX เข้าตลาดหลักทรัพย์ คนอยากมาทํางานกับเรามากขึ้น
เราก็กล้าที่จะสามารถเลือก คนที่มีศักยภาพมากขึ้นมาทำงานด้วย
แต่ไม่ใช่ว่าคนเก่าที่อยู่กับพี่ เราจะทิ้งเขานะ
ถ้าเขาสามารถพัฒนาได้ เขาโตต่อ
แต่ถ้าเขาไม่สามารถพัฒนาได้ เขาจะไปเอง
วันนี้ พอเราเริ่มมีคนเข้ามาอีกร้อยคน จากเดิมมีสองร้อยคน
คนที่เข้ามาใหม่ พี่กล้าพูดเลยว่าเก่งกว่าพี่ทุกคน
เคยได้ยินพี่ บรรยง พงษ์พานิช พูดถึง พีรามิดกลับหัว ในการเป็นผู้นํา เขาเรียกพี่มาอบรมหลายครั้งว่า
เราเหมือนเป็นวงกลมวงหนึ่ง ต่อให้ทำดีแค่ไหนก็ยังได้แค่ในวงเท่านี้
แต่ถ้าคุณมีคนที่เก่ง วงกลมคุณจะใหญ่ขึ้น
คุณต้องให้ลูกน้องคุณเก่งกว่าคุณ มาใช้คุณทํางาน
ไม่ใช่ คุณไปลากหัวรถลาก
มี 2 อย่าง คือเราต้องมีลูกน้องที่เก่งกว่าเรา หรือพัฒนาเขาขึ้น
พี่เลือกทําทั้งสองอย่าง คนที่พัฒนาได้เราพัฒนาเลย
คนที่เก่งกว่าเราถ้าหาได้ เราหาเลย
วันนี้มีทั้งคนที่เก่งกว่า มีทั้งคนที่พัฒนา
พอมีคนที่เก่งกว่าเยอะๆ กลายเป็นว่า มีแต่คนมานั่งตามงานพี่
ไม่ใช่พี่ตามงานเขาแล้ว
บางครั้งพี่โดนตามยัน ตี 2 ตี 3 ไม่ได้นอนเลย เช้าตื่นมา
นัดคุยงานกับเรา พี่บอกตรงๆ ว่า ไม่ไหว
พอเป็นแบบนี้ เราก็ต้องให้เขาทํางานในสิ่งที่เขามีศักยภาพ
ให้ความไว้วางใจ แต่เราก็ต้องมอนิเตอร์เขา
พอเราไว้ใจก็ปล่อยให้เขาทำงาน
แต่ถ้ายังไม่ไว้ใจเราขอมีส่วนในการตัดสินใจ
แล้วถ้าทั้งองค์กรทุกสายงานเป็นพีระมิดกลับหัวได้แล้ว
พี่ก็ไม่ต้องเป็นหัวรถลาก แต่กลายเป็นลูกน้องมาลากพี่แทน
แบบนี้คือเพอร์เฟกต์
จะทำธุรกิจให้โตได้ ต้อง เงินถึง ความสามารถถึง ใจถึง จริงมั้ยครับ?
พี่ฮิมได้ขยายความ 3 สิ่งนี้ ไว้ว่า …
ใจถึง อันนี้สอนยาก
เป็น mindset เป็นเรื่องของความตั้งใจ
ความสามารถถึง อันนี้พี่มองว่ามันฝึกกันได้
เพราะทุกคนสามารถพัฒนาได้
แต่ เงินถึง อันนี้ช่วยไม่ได้จริงๆ
มีสองอย่าง คือ กู้แบงค์หรือพ่อแม่ให้มา
แต่พอพี่มารู้ว่อย่างที่ 3 มันมีอีกวิธี
คือ การระดมทุนจากตลาดทุน
ซึ่งมีเครื่องมือทางการเงินมากมายเลย
ในการระดมทุนและเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ซึ่งเป็นปัญหา SMEs ทุกคน
SMEs ใครเติบโตมาจากศูนย์มาถึงพันล้าน
ไม่เคยกู้เงินนี่โกหก
อันนี้คือไม่พ่อแม่ให้ ก็ต้องมีวิธีการหาเงิน
ที่มาเป็นทุนหมุนเวียน
ถ้าองค์ประกอบครบก็สามารถไปต่อได้
หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ พี่ระดมทุนมาได้ 1,100 กว่าล้าน
พี่จะแลกเปลี่ยนเป็นยอดขาย 2,700 ล้าน ใน 4 ปี
ได้ทุนมาแล้วเราก็ต้องใช้เงินอย่างมีวินัย
Cash Cycle คืออะไรครับพี่ฮิม
“ มีคนหลายคนมากที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ค้าขายมีกําไรดี
แต่ทําไมไม่มีเงินจ่าย?
ซัพพลายเออร์ไม่มีเงินจ่าย
เพราะไม่เข้าใจคําว่า Cash Cycle ”
นับตั้งแต่วันที่เงินสดต้องออก
กับวันที่เงินสดต้องเข้า มันห่างกันกี่เดือน
สมมุติว่าพี่ซื้อของ มีเครดิตเทอม 1 เดือน
แต่พี่ขายของปล่อยเครดิตเทอมไป 5 เดือน
แสดงว่าพี่ต้องมีระยะเวลา Cash Cycle
เอา 5 เดือน ลบ 1 เดือน คือ 4 เดือน
ถ้าพี่ขายของเดือนละ 1 ล้านบาท
พี่ต้องมีเงินคืน เงินทุนหมุนเวียน 4 ล้านบาท
แบบพอดีเป๊ะ ห้ามมีใครช้าหรือเร็วเลย
แต่ถ้าสมมุติพี่จะเพิ่มยอดขายจาก
เดือนละล้านเป็นเดือนละ 2 ล้าน
แสดงว่าพี่ต้องมีเงินทุนหมุนเวียน 8 ล้าน
เป็นอย่างน้อย บางทีลูกค้าจ่ายช้าบ้าง
กลายเป็นเงินช็อตหมุนไม่ทัน
นั้นก็คือเรื่องที่สำคัญมาก
ต้องมีเงินหมุนเพียงพอ
ความสุขของพี่ฮิมคืออะไร?
เคยมีคนถามพี่ว่า อะไรคือความสุขในชีวิต เพื่อนถามอยู่ 6-7 ปี.
พี่ตอบไม่ได้เลย จนมาถึงปัจจุบันพี่ตอบได้เลยว่า
ความสุขของพี่ คือการได้เสพติดความสำเร็จ
เมื่อไหร่ไม่มีการแข่งขัน พี่จะไม่มีความสุข
เพราะฉะนั้น มันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่พี่มองว่า
มันอาจจะวัดไม่ได้ด้วยเงิน แต่มันเป็นความสุขอย่างหนึ่ง
สิ่งนี้พอเรามาใช้กับการทําธุรกิจ
มันก็ทําให้เรามีพลัง มีเป้าหมาย
แต่มีวงเล็บว่า สิ่งที่เราทําสําเร็จหรือได้มาในโลกธุรกิจ. ต้องมีคําว่าอยู่ในกรอบจริยธรรมด้วย !!
“ การได้มาในโลกธุรกิจ ถ้าไม่มีกรอบจริยธรรม สังคมไทยแย่ครับ
ส่วนคนที่อยู่ในกรอบ มันอยู่ยากนะต้นทุนสูงกว่าคนที่อยู่นอกกรอบ ”
ปรัชญา ชีวิตของพี่ฮิม
“คนที่หิวเงินจะไม่มีวันอิ่มเงิน”
หมายความว่า ถ้าเราไม่ได้ให้ความโลกนํา
เราใช้ความสุขนํา
เราใช้ passion
เราใช้ความสําเร็จนํา
เราใช้ เป้าหมายขององค์กรนํา
แม้มันไม่ได้กําไรสูงสุดนะ แต่เราได้ความสุข เราได้ความสําเร็จ เราได้ความยั่งยืน. อันนี้สําคัญสุด
มันเป็นปรัชญาที่พี่ใช้ ตัดสินใจทุกอย่างในชีวิต ไม่ใช่แค่ธุรกิจ
ถ้าวันนั้นพี่เอาความโลภนำ พี่อาจกลายเป็นผู้ร้ายไปแล้ว
ทุกวันนี้ พี่ได้เงินมาเท่าไหร่ พี่ก็ใช้ชีวิตแบบเดิม ใช้เงินแบบเดิม
รถจะมีทำไมหลายคัน มีก็กลายเป็นภาระ
นาฬิกาหลายเรือนเราจะสิ้นเปลืองตรงนั้นทำไม ใส่สมาร์ทวอช จบเลย
พี่รู้สึกว่า วัตถุ บางทีก็เป็นภาระ นี่คือสำหรับพี่นะ
เพราะพี่ไม่ไปตัดสินคนอื่น
พี่อยู่จุดนี้ มีความสุขในพื้นที่ของเรา
ทั้งหมดนี้คือ ปรัชญาชีวิตที่พี่ใช้
“ทุกอย่างที่เราทํา ถ้าประกาศให้โลกรู้ ประกาศให้ทุกคนรู้แล้วลูกสาวเราภูมิใจ
ก็แสดงว่ากรอบนี้ถูกต้อง”
และนี่คือเรื่องราวและข้อคิดทั้งหมด
ที่เราได้จาก
พี่ฮิม วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีกุล
แห่ง WARRIX แบรนด์เสื้อผ้ากีฬา
ลิขสิทธิ์แท้ทีมชาติไทย ครับ
ผมเชื่อว่าทุกคนที่อ่านบทความนี้จบ
น่าจะได้ไอเดียและได้แรงบันดาลใจ
อย่างมากเลยทีเดียว
ผมคิดว่าถ้ามันจะต้องมีธุรกิจของคนไทย
ที่ไปปักธง เป็นตัวแทนทีมชาติ ไม่ใช่แค่เสื้อทีมชาติไทย
แต่ว่าเป็นตัวแทนทีมชาติ เป็นการสื่อให้เห็นว่า
บริษัทไทยสามารถไปไกลระดับโลกได้
พี่ฮิม คือ ตัวอย่างที่ดีมากจริง ๆ ครับ .
รับชมคลิปสัมภาษณ์อื่นๆที่น่าสนใจ ได้ที่ : ทำธุรกิจกับภรรยา ในมุมมองของคุณคิม Otteri