บ้านมะขาม: จากมะขามแปรรูปสู่แบรนด์ส่งออกระดับโลก

0
Tamarind processing Thai SME success Local product innovation Phetchabun agriculture Export quality tamarind มะขามแปรรูป ธุรกิจชุมชนเพชรบูรณ์ บ้านมะขาม SME สินค้าส่งออกไทย นวัตกรรมเกษตรไทย


ในโลกของธุรกิจการเกษตร การนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมาแปรรูปและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่หากสามารถทำได้สำเร็จ ก็จะกลายเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่ง “บ้านมะขาม” เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่สามารถนำผลิตทิ้งถิ่นมาแปรรูปจนกลายเป็น SME ที่ประสบความสำเร็จได้ โดยการนำมะขามในจังหวัดเพชรบูรณ์มาแปรรูป ที่เริ่มจากรุ่นพ่อแม่ และสานต่อโดยรุ่นลูก นั่นคือ คุณเต้น-ธนนท์ โฆวงศ์ประเสริฐ ทายาทรุ่นที่ 2 ในฐานะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวนผึ้งหวาน จำกัด


ก่อนจะเป็นบ้านมะขาม ต้องย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 หลาย ๆ ครอบครัวล้วนได้รับผลกระทบ และครอบครัวของคุณเต้นก็เป็นหนึ่งในนั้น เนื่องจากธุรกิจหลักของครอบครัวคือ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และรับเหมาก่อสร้าง ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์นั้น แต่ด้วยความโชคดีที่บ้านของคุณแม่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ มีสวนมะขาม จึงเป็นทางออกเพียงทางออกเดียว ที่จะนำมาสร้างรายได้ให้กับครอบครัว


คุณพ่อกับคุณแม่ของคุณเต้น จึงคิดหาไอเดียว่า มะขาม นอกจากขายแบบสด ๆ จะสามารถนำมาทำอะไรได้บ้าง จนสุดท้ายก็ตกลงกันว่า จะทำมะขามแปรรูป จึงเกิดเป็นสินค้าตัวแรกคือ “มะขามคลุก” ซึ่งเป็นการนำมะขาม มาแกะเมล็ดออก จากนั้นนำไปคลุกน้ำตาล และบรรจุใส่ถึง เพื่อนำไปวางขาย โดยสิ่งที่จะทำให้รู้ว่า สินค้าดีหรือไม่ ก็คือการรับฟังคำติชมจากลูกค้า ซึ่งหลังจากวางขาย ก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี 


เพื่อให้ขยายฐานลูกค้ามากขึ้น จึงนำสินค้าไปออกบูทตามงานต่าง ๆ เพื่อให้คนที่มาเดินงาน ได้ทดลองสินค้า จนกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น กลายเป็นก้าวสำคัญของแบรนด์ นั่นคือการได้เข้าไปวางขายใน 7-Eleven ทำให้สินค้าถูกนำไปวางขายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้แบรนด์เติบโตอย่างรวดเร็ว และเริ่มขยายการผลิตจากในบ้านไปสู่การสร้างโรงเรือน และโรงงานที่ผ่านมาตรฐาน GMP และ HACCP ที่สามารถรองรับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและปริมาณมากได้


สิ่งที่ทำให้แบรนด์ได้รับความนิยมและสามารถแข่งขันในตลาดได้ ก็คือการรักษาคุณภาพของสินค้า และมุ่งเน้นสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยหนึ่งในสิ่งที่เป็นนวัตกรรมที่เป็นเอกลักษณ์คือ การคิดค้นเครื่องกำจัดมอดในมะขาม ด้วยคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่คิดค้นได้ในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาหลักที่มักจะเกิดขึ้นกับมะขาม 


และในอีกมุมหนึ่งที่แบรนด์ให้ความสำคัญคือ การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งลูกค้าและเกษตรกรผู้ผลิตมะขาม โดยการรับซื้อผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรภายในจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ ทำให้เกิดการสร้างงานและช่วยพัฒนาชุมชน 


แม้ในช่วงวิกฤตโควิด – 19 แบรนด์ก็สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยการเพิ่มช่องทางการขายทางออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น แม้จะต้องเจอการล็อกดาวน์หรือการปิดร้าน 7-Eleven ก็ตาม ซึ่งช่องทางออนไลน์ก็ทำให้ยอดขายของแบรนด์เติบโตขึ้นได้ และยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นด้วย


การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ “บ้านมะขาม” โดยการสำรวจความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ และคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เช่น “มะขามอบแห้ง” ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่หันมาสนใจสินค้าที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและไม่เพิ่มน้ำตาลมากเกินไป


ปัจจุบัน “บ้านมะขาม” นอกจากจะขายอยู่ในร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ ยังส่งออกไปขายยังต่างประเทศมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก แม้ว่ามะขามจะไม่เป็นที่นิยมมากในต่างประเทศ แต่การปรับปรุงมะขามให้เข้ากับความชอบและการกินของแต่ละประเทศ ก็จะทำให้สินค้าได้รับการตอบรับดีมากขึ้น เช่น การผลิต “กล้วยกรอบไส้มะขาม” ที่เป็นการผสมผสานระหว่างผลไม้สองชนิด ทำให้สามารถวางขายในบางประเทศได้เป็นอย่างดี เช่น รัสเซีย เป็นต้น


เรื่องราวของ บ้านมะขาม เป็นตัวอย่างที่ดีของธุรกิจ SMEs ที่สามารถประสบความสำเร็จได้จากการทำงานหนัก และคิดค้นนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง รวมถึงการรักษาคุณภาพอย่างเคร่งครัด ทำให้สามารถขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดมั่นหลักการที่ว่า “ผลิตภัณฑ์คุณภาพดีจะนำพาความสำเร็จมาสู่ทุกธุรกิจ”


เรียบเรียงโดย: THE INSIDER 
Source
https://www.tamarindhouse.co.th/
https://www.wearecp.com/7-eleven-sme-dna-20221202/ 
https://www.youtube.com/watch?v=ZZXintjQikU

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *