ความเชื่อใจ เป็นกุญแจสำคัญในยุค AI ที่คุณต้องมี

เปิดปี 2025 มาเพียงแค่ 2 เดือน แต่โลกนี้เปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ไปมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของ AI ที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่สิ่งที่มากกว่านั้น คือการแข่งขันการนำ AI ไปประยุกต์ใช้กับสิ่งต่างๆ เพื่อให้ AI กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ซึ่งหากกล่าวถึง AI บุคคลที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวนี้ได้ดีที่สุด คือ คุณกระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ที่ล่าสุดได้เข้าไปเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของ AI Governance Allianc โดยถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าสนใจ ผ่านรายการ Mission To The Moon
“AI Governance Alliance” เป็นการรวมตัวของภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม โดยมี WEF หรือ World Economic Forum เป็นเจ้าภาพ มีบทบาทหน้าที่หลัก ๆ คือการวาง framework ให้กับ AI เพื่อให้ AI ทำงานสอดคล้องกับผลประโยชน์ของมนุษย์ โดยเรื่องที่ให้ความสำคัญคือ Agentic AI
“Agentic AI” เป็น AI ที่ทำงานเองได้แบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องการคำสั่งทีละขั้นตอน โดย AI จะดำเนินงานด้วยตัวของมันเอง ภายใต้ความเป็นเหตุและผล เช่น AI Agent ที่เป็นนายหน้าเพื่อจองตั๋วเครื่องบิน โดยผู้ใช้จะกำหนดช่วงเวลา จุดหมายปลายทาง และช่วงราคาที่ต้องการให้กับ AI โดยมอบเงินหรือตัวแทนเงินให้กับ AI เมื่อ AI พบสิ่งที่ต้องการ ก็นำมาเสนอให้กับเรา สุดท้ายแล้วการตัดสินใจยังอยู่ภายใต้การตัดสินใจของเรา
โดยในอนาคต Agentic AI จะมาแน่นอน ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรว่าจะนำไปปรับใช้แบบเต็มรูปแบบ โดยพัฒนาให้เป็น Narrow Agent เพื่อให้มาทำงานเฉพาะด้าน หรือจะนำไปปรับใช้เพียงบางส่วน ให้เป็นผู้ช่วยในการทำงาน (Co-Pilot) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ต่อไปภายในองค์กร มนุษย์จะต้องทำงานร่วมกับ AI ให้ได้
ซึ่งผู้บริหารควรเป็นคนจัดการในส่วนของการวางแผนว่าในแต่ละส่วน ส่วนใดจะให้เป็นหน้าที่ของ AI และส่วนใดให้เป็นหน้าที่ของมนุษย์ นอกจากนั้นผู้บริหารจะมองเห็นได้ว่า ตำแหน่งใดควรมี ตำแหน่งใดควรมีเพิ่ม และตำแหน่งใด ไม่ควรที่จะมีอีกต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ตำแหน่ง software engineer อาจถูกแทนที่ด้วยตำแหน่ง business technology engineer
[คำถามชวนคิด] คุณคิดว่า AI ที่ถูกพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะมีบทบาทอย่างไรต่อมนุษย์?
จากการพยากรณ์ ในอีก 10 ปีข้างหน้า Productivity จะต้องเพิ่มขึ้น 6.5 เท่า นั่นหมายความว่า หากวันนี้องค์กรมีพนักงาน 50 คน ในอนาคตอาจจะลดลงเหลือแค่ 10 คน โดยการนำ AI เข้ามาช่วยงานมนุษย์ แล้วสามารถยกระดับความเป็นมนุษย์ได้มากขึ้น
จากผลการวิจัยใน WEF พบว่า มนุษย์ที่เก่ง AI จะมีทักษะการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 13 เท่า และมีทักษะอื่นๆ เช่น Critical Thinking เพิ่มขึ้น 7-8 เท่า แสดงให้เห็นว่า AI สามารถยกระดับความเป็นมนุษย์ได้อย่างมหาศาล
ดังนั้น สติปัญญาและความรู้ จะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด ในทางกลับกัน “ความไว้วางใจ” จะกลายเป็นสิ่งสำคัญและหายากมากขึ้น ยิ่ง AI ถูกพัฒนาไปมากเท่าไหร่ ความไว้วางใจก็จะสำคัญมากเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่น่าจับตามองคือ Cybersecurity (ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์)
เด็กยุคใหม่ จึงไม่ใช่แค่ศึกษาด้านความรู้ แต่ต้องเรียนรู้การมีความไว้วางใจ (Trust) การเห็นอกเห็นใจ (Empathy) รวมไปถึง ความเป็นผู้นำ (Leadership) และทักษะอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เพราะหากเด็กยุคใหม่ หรือรวมไปถึงใครก็ตาม ยังยึดติดอยู่กับองค์ความรู้เพียงอย่างเดียว มีโอกาสตามโลกไม่ทัน
แม้กระทั่ง AI ที่ใช้ เราก็ต้องไม่ยึดติดอยู่กับ AI ตัวเดิมๆ เพราะบางครั้ง AI ที่เราใช้ อาจจะเป็น AI ที่ล้าหลังที่สุดก็ได้ ซึ่ง deepseek แสดงให้เห็นแล้วว่าโลกของ AI มีการแข่งขันและเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วแค่ไหน ซึ่งหากเราสามารถเข้าใจและใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถยกระดับความเป็นมนุษย์ของเราได้มากขึ้น หรือมากกว่านั้นคือการเป็น “มนุษย์ที่มนุษย์คนอื่นเชื่อใจ”
เพราะความเชื่อใจ มันนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจมหาศาล จะทำให้มีคนอยากทำงานร่วมกับเรา อยากมีคนมาลงทุนในบริษัทเรา สุดท้ายแล้ว เมื่อมนุษย์เกิดความเชื่อใจ ต่อให้ AI เก่งแค่ไหน ก็ยากที่จะมาเปลี่ยนความเชื่อใจหรือไว้วางใจของมนุษย์ได้ ดังนั้น “ความเชื่อใจ”จะเป็นทรัพยากรที่หายากที่สุดในทศวรรษนี้
จากปีที่แล้ว (2024) ที่หลาย ๆ องค์กร มีนโยบาย AI First พอเข้าสู่ปี 2025 พบว่า ต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย กลับมาที่ Human First เนื่องจาก ต่อให้มีการใช้ AI ในการทำงาน แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง สุดท้ายแล้ว ในกระบวนการพัฒนาและขั้นตอนวิธีการ มนุษย์ก็ยังเป็นคนทำหน้าที่ในส่วนนี้
โดยมีการพิสูจน์ให้เห็นจากการ transformation หลาย ๆ องค์กร ที่ WEF ได้เข้าไปช่วย พบว่า 10% เป็นเรื่องของเทคโนโลยี อีก 20% เป็นกระบวนการ (Process) หากองค์กรไม่แก้ที่กระบวนการ จะทำให้พนักงานสูญเสียประสิทธิภาพ (Productivity Leaked) ดังนั้นต้อง transform ที่ process โดยการทบทวนหรือประเมินองค์กร (Rewind Organization) ซึ่งสุดท้ายแล้ว 70% ที่เหลือ จะอยู่ในส่วนของ Change Management
หากเจาะจงมาที่การทำงาน โลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานที่ใหญ่ที่สุด ต่อไปจะไม่มีการแบ่งหน้าที่ตามตำแหน่ง แต่จะเป็นการแบ่งตามทักษะ (Skill-Based Organization: SOB) ต่อไปจะไม่มีอีกแล้ว ฝ่ายนั้น ฝ่ายนี้ แต่จะเป็น มนุษย์และ AI Agent แต่ละสกิล มีอยู่จำนวนเท่าไหร่ในองค์กร แล้วนำมาจัดว่างานนี้ จะต้องใช้ทักษะใดบ้าง แล้วนำทักษะต่าง ๆ เข้ามาประกอบ
ซึ่งจะตามมาด้วย Dynamic Career Path ด้วยทักษะของมนุษย์และ AI ทำให้สามารถทำได้หลากหลายอย่าง แต่ละคนอาจจะมีหลากหลายโปรเจกต์ ในฐานะคนทำงาน ก็ต้องมีทักษะในการปรับตัว ส่วนองค์กรก็ต้องมีวิธีการวัดผลงานที่แม่นยำและชัดเจนมากขึ้น
ดังนั้น ต่อไปในองค์กร อาจจะมีส่วนประกอบเพียงแค่ CEO ดูแล Strategy, Vision, Governance และ Culture และระดับ Middle Management ก็ทำหน้าที่เป็น Orchestrate ของผู้ใต้บังคับบัญชา นั่นก็คือ พนักงานระดับปฏิบัติงานในฐานะมนุษย์ที่ทำงานร่วมกับ AI
สุดท้ายแล้ว ทุกตำแหน่งหน้าที่ จะต้องมีการ transform ไปสู่สิ่งใหม่ ซึ่งตัวเราเองจะต้องเป็นคนเลือกว่า เราจะ transform ไปสู่ตำแหน่งหน้าที่ใด แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต่อให้สิ่งที่เราจะไป ต้องเป็นการใช้ Hard Skills แต่เราจะต้องไม่ทิ้ง Soft Skills และต่อไปจะไม่มีแล้ว Job, Role-Based แต่จะกลายเป็น Skill, Competency-Based
“CEO ทุกคนในยุคนี้ คือยุคสุดท้ายที่จะบริหารองค์กรที่มีแต่คน
เพราะในยุคต่อไป จะเป็นการทำงานระหว่างคนกับ AI Agent”
เรียบเรียงโดย: THE INSIDER
Source