ทำไม “Empathy” คือสิ่งที่ AI ไม่มีแต่ผู้นำต้องมี?

ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนเกิดคำถามว่า AI จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้และชีวิตของเราไปในทิศทางไหน? เพราะ AI นอกจากจะถูกพัฒนามาเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น แต่ตัวมันเองก็สามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้อย่างไม่สิ้นสุด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายบริษัทหรือหลายอุตสาหกรรมเริ่มนำ AI เข้าไปปรับใช้ และสิ่งสำคัญของ AI คือ มันเป็นเทคโนโลยีที่จะไม่หายไปเหมือนเทคโนโลยีบางอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพื่อมาตอบโจทย์เฉพาะบางกลุ่ม เมื่อไม่สามารถตอบโจทย์ได้แล้วก็จะเริ่มหายไป
หากมองย้อนกลับไปในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีเทคโนโลยีเกิดขึ้นมาเพื่อลดภาระและเพิ่มความสะดวกสบายให้กับเรา แต่สิ่งที่ทำให้ AI แตกต่างจากสิ่งเหล่านั้น คือนอกจากจะช่วยงานเราให้ทำงานได้เร็วขึ้นแล้วนั้น AI ยังเรียนรู้และสามารถปรับตัวตามบริบทที่ใช้มันได้ด้วย ทำให้ AI กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนโลกในอนาคต
จากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทำให้เราต้องมีความพร้อมในการเรียนรู้ ปรับตัว และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยิ่งสำหรับผู้นำในองค์กรแล้วนั้น การพัฒนาทักษะการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงให้ทันกับสถานการณ์ยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ แม้บางครั้งเราอาจจะรู้สึกท้อแท้กับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว แต่มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การปรับตัวให้เป็น และเปลี่ยนแปลงให้ไว จึงกลายเป็นทักษะที่สำคัญ
แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราเหนือกว่า AI ซึ่งนอกจากคนทั่วไป ในฐานะผู้นำองค์กร ยิ่งต้องมี คือ “Empathy” หรือความเข้าอกเข้าใจ โดยการฟังความคิดเห็นและเสนอแนะจากผู้อื่นอย่างตั้งใจ สิ่งนี้จะทำให้เราเข้าใจทุกอย่างได้ดีมากขึ้น และช่วยให้เราพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง รวมถึงพนักงานในองค์กร สร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในฐานะที่เราทุกคนที่เรียกตัวเองว่า “มนุษย์” สิ่งหนึ่งที่เรามีมาตั้งแต่ในอดีต คือ “Circuit Breaker” ซึ่งเป็นกลไกทางจิตใจที่ทำให้เราหยุดทำสิ่งบางอย่างที่เราไม่ต้องการทำ เช่น การกลัวความล้มเหลว หรือกลัวว่าจะไม่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่นหากทำผิด เมื่อเราต้องการที่จะเอาชนะสิ่งเหล่านี้และกล้าเผชิญหน้ามากขึ้น เราจำเป็นต้องปรับระดับของ Circuit Breaker ให้สูงขึ้น
การที่เรากลัวหรือไม่กล้าทำบางสิ่ง บางครั้งมันไม่ได้เกิดจากการที่เรามีศักยภาพไม่มากพอ หรือมีขีดจำกัดที่น้อย แต่มันเกิดจากกรอบความคิดของตัวเราเอง หลายครั้งที่กรอบความคิดเหล่านั้น จำกัดศักยภาพของเราในการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ การที่เราจะพัฒนาและเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้กว้างขึ้น เราต้องกล้าที่จะออกจากกรอบความคิดที่คอยจำกัดตัวเองออกไป และมองหาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเรา
เราเรียนรู้ที่จะควบคุมและจัดการสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตให้มีประสิทธิภาพ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราสามารถก้าวข้ามความท้าทายได้ ซึ่งการใช้ Concept of Control ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราสามารถมองภาพได้กว้างมากขึ้นถึงสิ่งต่าง ๆ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ
[1] Circle of Concern: เป็นสิ่งที่เรากำวลแต่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น สภาพอากาศ สงคราม การเมือง หรือสถานการณ์ที่ไม่เกี่ยวกับเราโดยตรง เรื่องเหล่านี้เราต้องรู้จักปล่อยวาง
[2] Circle of Influence: เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่เราสามารถมีอิทธิพลเหนือมันได้ เช่น ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ครอบครัว หรือสังคม
[3] Circle of Control: เป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ เช่น การออกกำลังกาย การนอน การจัดการความเครียด หรือพฤติกรรมต่าง ๆ ของเรา เมื่อเราโฟกัสกับสิ่งที่เราควบคุมได้ จะทำให้เรารู้สึกมั่นใจและสามารถจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เวลากลายเป็นสิ่งที่มีค่าสูงมาก การใช้ Concept of Control จะช่วยให้เรารู้ว่าควรโฟกัสหรือให้ความสำคัญกับสิ่งใด และจะไม่เสียเวลาไปกับสิ่งใด ซึ่งทำให้เรามีสติและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการทำให้ชีวิตของเรามีสมดุลระหว่างสิ่งที่เราควบคุมได้และปล่อยวางสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้
เรียบเรียงโดย: THE INSIDER
Source
– The Entrepreneur Forum 2025